สามพันโบก อุบลราชธานี
อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติงดงามอยู่หลายแห่ง และที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือ สามพันโบก นี่เอง ซึ่งเปรียบเสมือนแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ที่มีความงดงามอัศจรรย์ไม่แพ้แกรนด์แคนยอนที่อื่นๆ ในโลกเลยทีเดียว
แก่งสามพันโบก ตั้งอยู่บริเวณบ้านสองคอน เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขงซึ่งเกิดจากแรงน้ำที่กัดเซาะใน ช่วงฤดูน้ำหลากกลายเป็นแอ่งจำนวนมาก ลักษณะคล้ายหาดชมดาวที่อำเภอนาตาล คำว่า “โบก” หมายถึง “แอ่ง” หรือ “บ่อน้ำลึก” สามพันโบกจะปรากฏให้เห็นในช่วงฤดูแล้งยามที่แม่น้ำโขงลดระดับลง ตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม ชาวบ้านเรียกว่า “แกรนด์แคนยอนน้ำโขง” ทางเข้าแก่งสามพันโบกจะพบก้อนหินลักษณะคล้ายหัวสุนัข ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า “แต่ก่อนมีเจ้าเมืองเป็นผู้เรืองอำนาจประทับใจความงามของสามพันโบก จึงได้ส่งเสนามาศึกษาเพิ่มเติม เมื่อมาแล้วพบขุมทรัพย์เป็นทองคำ จึงให้สุนัขเฝ้าทางเข้าจนกว่าเจ้าเมืองจะออกมา เมื่อเจ้าเมืองได้เห็นสมบัติเกิดความโลภกลัวเสนาจะได้ส่วนแบ่ง จึงได้ออกไปทางอื่น สุนัขผู้ภักดีก็เฝ้ารออยู่ตรงนั้นจนตาย” บางตำนานก็ว่า “ลูกพญานาคในลำน้ำโขงเป็นผู้ขุดเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกสายหนึ่ง และได้ให้สุนัขเฝ้าทางเข้าระหว่างการขุดจนกระทั่งสุนัขได้ตายลง กลายเป็นหินรูปสุนัขในที่สุด” หาดสลึง หาดทรายขาวละเอียดทอดยาวตลอดแนวลำน้ำโขงกว่า 860 เมตร ตั้งอยู่ที่บ้านปากกะกลาง ตำบลสองคอน นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว หาดสลึงยังเป็นจุดขึ้นเรือเพื่อไปยังสามพันโบกและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อีกด้วย -ปากบ้อง เป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุดตลอดระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร โดยมีความกว้างเพียง 56 เมตร -หินหัวพะเนียง อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน ถัดจากบริเวณปากบ้องขึ้นไปทางเหนือ 500 เมตร มีแก่งใหญ่ขวางกลางลำน้ำทำให้แม่น้ำโขงแยกเป็นสองสาย เป็นที่มาของบ้านสองคอน “พะเนียง” ในภาษาถิ่นของชาวอุบลราชธานี คือ แท่นไม้ที่ใช้สวมใบไถเหล็ก แต่ลักษณะหินในบริเวณนี้บางกลุ่มจะเป็นช่อแหลมคม ซึ่งเกิดจากการปะทุขึ้นมาของหินทรายร้อนคล้ายหินภูเขาไฟ แต่ไม่ใช่แมกมาหรือลาวา เมื่อปะทุขึ้นมาปะทะกับกระแสน้ำเย็น จึงแข็งตัวกลายเป็นหินที่มีลักษณะเป็นช่อ -หาดสองคอน เป็นจุดที่สายน้ำโขงสองสายมาบรรจบกัน คือ สายหนึ่งอยู่ฝั่งไทย อีกสายหนึ่งอยู่ฝั่งลาว ซึ่งจุดนี้จะมีกระแสน้ำไหลแรงและทวนกระแสน้ำด้วย -หาดหงส์ เป็นเนินทรายละเอียดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการพัดพาของน้ำและตะกอนที่มาทับถมกันคล้ายทะเลทราย จึงได้รับการขนานนามว่า “มินิซาฮาร่า” หรือ “มินิมุยเน่” (เวียดนาม) ตั้งอยู่ทางใต้ของสามพันโบกและอยู่ก่อนถึงหาดหินสี ด้านท้ายของหาดหงส์จะเป็นพื้นโคลนและดินที่แห้งจนแตกริมแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีฉากหลังเป็นผาหิน เมื่อแสงแดดในช่วงบ่ายตกกระทบกับผืนทรายสีทองจะเกิดเป็นประกายระยิบระยับสวยงามมาก -หาดหินสี หรือ ลานหินสี หรือ ทุ่งหินเหลื่อม ลานหินกว้างสลับกับหาดทรายเป็นบางช่วง ตั้งอยู่ทางใต้ของสามพันโบก หินในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะมีผิวเรียบ เป็นมันวาวมีสีเหลือง เทา เขียว ม่วง ส้ม และน้ำเงิน และมี “หินแจกัน” เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหลี่ยมมุมหินเป็นรูปแจกัน การเดินทาง จากตัวอำเภอโพธิ์ไทร ใช้ทางหลวงหมายเลข 2337 ตรงไปจนถึงจุดบรรจบระหว่างทางหลวงหมายเลข 2337 กับทางหลวงหมายเลข 2112 ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2112 และเลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงชนบท อบ. 4090 ตรงไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทางลงไปชมสามพันโบก รวมระยะทางจากตัวอำเภอโพธิ์ไทร ประมาณ 23 กิโลเมตร หากมาจากตัวเมืองอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2050 ผ่านอำเภอตระการพืชผล ไปยังอำเภอโพธิ์ไทร และใช้ทางหลวงหมายเลข 2337 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2112 และทางหลวงชนบท อบ. 4090 จนถึงสามพันโบก รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 118 กิโลเมตร บริเวณทางลงไปยังสามพันโบก มีรถสองแถวของชาวบ้านในพื้นที่ให้บริการขับพาลงไปยังสามพันโบก คันละ 200 บาท (หากเดินลงไปเองระยะทางประมาณ 250 เมตร) และมัคคุเทศก์เยาวชนพาชมจุดสำคัญของสามพันโบก ค่าใช้จ่ายแล้วแต่นักท่องเที่ยวจะให้
สามพันโบก ความงามยามน้ำลด
สามพันโบก เป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย ที่ทอดตัวยาวริมฝั่งโขงไทย และลาว กลุ่มหินเหล่านี้ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง เรียงตัวทอดยาวเป็นสันดอนขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตรความโดดเด่นของสามพันโบกคือหลุมเล็กใหญ่จำนวนมากมาย ที่เกิดจากการถูกกระแสน้ำกัดเซาะ ซึ่งแก่งหินสามพันโบกจะอยู่ใต้ลำน้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลากประมาณกลางเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน เกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติที่งดงามแปลกตาให้เราได้ไปเที่ยวสัมผัส คำว่า หลุม หรือ แอ่ง ในภาษาลาวเรียกว่า โบก และจำนวนหลุมที่มีมากกว่า 3,000 แห่งนั้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “สามพันโบก” นั่นเอง
การเดินทางไปท่องเที่ยวสามพันโบก สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางบกและทางน้ำ คือ สามารถขับรถไปชมความงามของสามพันโบกอย่างเดียว รถสามารถวิ่งเขาไปถึงและมีที่จอดรถไว้บริการ หรือหากต้องการชมบรรยากาศและศึกษาวิถีชีวิตโดยรอบสามพันโบก จะนิยมลงเรือที่หาดสลึง ปากกะกลาง ตำบลสองคอน โดยสารเรือล่องไปตามลำน้ำโขงระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งก็จะได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่
หาดสลึง
หาดสลึง เป็นจุดลงเรือเพื่อล่องชมแม่น้ำโขง ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงลดลง จะมองเห็นหาดทรายสีขาวที่สวยงามริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่มาของชื่อ “หาดสลึง” มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยก่อนการคมนาคมยังจำเป็นต้องใช้เรือในการสัญจรและการค้าขาย มีพ่อค้าคนหนึ่งชื่อว่านายหลาง มักจะมาจอดเรือที่หาดแห่งนี้ทุกปีในช่วงเดือนเมษายน เมื่อนายหลางเดินลงบนหาดทรายโดยไม่สวมรองเท้า จะรู้สึกได้ถึงความร้อนระอุ จนเกิดความคิดท้าทายไว้ว่า ถ้าใครสามารถวิ่งจากหัวหาดไปจนถึงท้ายหาดได้โดยไม่สวมรองเท้าและไม่หยุดพัก ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 860 เมตร จะได้รางวัลจากนายหลางเป็นเงิน 1 สลึง ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า “หาดสลึง” และที่บริเวณนี้ปัจจุบันได้จัดให้มีบริการต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวและเหมาะสำหรับการเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการล่องเรือชมแม่น้ำโขง
ปากบ้อง
ปากบ้อง หรือ ช่องแคบ เป็นจุดชมวิวที่หมู่บ้านสองคอน เป็นจุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย เป็นหน้าผาหินที่เกิดจากรอยแยกตัวของแผ่นหินทรายเปลือกโลก ลักษณะเหมือนคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้ 56 เมตร เป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ช่วงที่แม่น้ำโขงลดระดับลงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายน ชมวิถีชีวิตการทำประมงริมแม่น้ำโขง ซึ่งจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “ตักปลา” โดยใช้กระชอนตักที่ริมฝั่งโขง นอกจากนั้นก็มีการใช้กระชอน แห เบ็ดราว ปลาที่หาได้ เช่น ปลากด ปลาเอิน ปลาคัง ปลาเนื้ออ่อน ซึ่งจะอาศัยตามตลิ่ง โขดหิน และทราย ช่วงเดือนมิถุนายน น้ำโขงจะขุ่นและไหลเชี่ยว จะเป็นช่วงที่ปลาขึ้น ซึ่งชาวประมงจะหาปลาได้เยอะ ชาวบ้านสองคอนจะมีประเพณีการตักปลา เป็นประเพณีที่น่าสนใจที่นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นนิยมเข้าไปชมการจับปลาที่ว่ายจากเวินน้ำกว้างที่จะแหวกว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่เป็นจำนวนมาก
ผาวัดใจ
ผาวัดใจ เป็นชะง่อนผาหินทรายที่ยื่นออกไปในลำน้ำโขงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความท้าทายสามารถขึ้นไปกระโดดหน้าผาเพื่อวัดใจได้ และเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงามจุดหนึ่ง
แก่งสองคอน
แก่งสองคอน มีลักษณะเป็นเกาะหินขนาดใหญ่อยู่กลางลำน้ำโขง เรียกว่า หินหัวพะเนียง มีรูปร่างคล้ายใบไถ หรือแท่นไม้ที่ใช้สวมใบไถ ทำให้สายน้ำแยกออกเป็นสองสายหรือสองคอน ซึ่งในภาษาถิ่น คอน แปลว่า แก่ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้าน และตำบลสองคอน บริเวณนี้น้ำจะไหลแรง และมีน้ำวน
หาดหงส์
หาดหงส์ เป็นเนินทรายแม่น้ำโขงที่เกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกันจนลักษณะพื้นที่เป็นพื้นทรายกว้างคล้ายกับทะเลทราย เมื่อแสงของดวงอาทิตย์กระทบกับทรายสีขาวจะเกิดความระยิบระยับสวยงาม ข้างหลังเป็นหน้าผาทราย มีแอ่งน้ำเล็ก ๆ ระยะหลังนี้บริเวณหาดหงส์จะมีหญ้าขึ้นปกคลุมมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง มีเวลาที่น้ำท่วมน้อยเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ทำให้หญ้าบริเวณนั้นยังไม่ตาย จึงเกิดขึ้นปกคลุมหาดหงส์บดบังความสวยงามไปอย่างมาก แต่ถ้าเมื่อใดที่น้ำในแม่น้ำโขงมาก น้ำท่วมถึงบริเวณหาดหงส์นานสามเดือนหญ้าจะตาย เกิดเป็นหาดหงส์ที่สวยงาม
ชมรมเรือนำเที่ยว หาดสลึง
ชมรมเรือนำเที่ยว หาดสลึง ตั้งอยู่ที่บ้านปากกะลาง ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร เกิดขึ้นจากการที่สามพันโบกมีชื่อเสียงขึ้นมา มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชมกันอย่างมากมาย ชุมชนและหน่วยงานทางราชการจึงได้จัดให้มีเรือนำเที่ยวขึ้น เพื่อส่งเสริมและบริการนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมสามพันโบก และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในลำน้ำโขง ซึ่งได้รับอนุญาตและรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่าและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแล้ว ชมรมเรือนำเที่ยวนี้ได้ผ่านการอบรมการช่วยเหลือทางน้ำ การอบรมการเป็นผู้นำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ มีการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการ สมาชิกที่เข้ามาร่วมในชมรมมี 16 ราย ซึ่งเงื่อนไขการเข้าชมรมนอกจากจะมีเรือและขับเรือได้แล้ว จะต้องรู้จักร่องน้ำต่าง ๆ สามารถเป็นมัคคุเทศก์ได้
การท่องเที่ยวในกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวสามพันโบกนี้ ผู้คนจะนิยมมาชมความสวยงามของธรรมชาติในช่วงฤดูน้ำลด ตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ และช่วงวันหยุดยาว ผู้ที่มาเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมพกร่ม หมวก หรืออุปกรณ์กันร้อนต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอากาศร้อนและแดดแรง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชมคือ 15.00-18.00 น. นอกจากการได้ชื่นชมความสวยงามของสถานที่ต่าง ๆ ชมวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขง ในบริเวณสามพันโบกและพื้นที่โดยรอบแล้ว การไปเที่ยวสามพันโบกยังมีความท้าทายอีกอย่าง นั้นคือ ในการตามหาโบกที่มีรูปร่างต่าง ๆ และการสร้างสรรค์จินตนาการจากหินและโบกที่มีรูปร่างต่าง ๆ อีกด้วย
สามพันโบก
- ที่ตั้ง : ตำบลบ้านสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
- พิกัด : https://goo.gl/maps/i7s1M4pnRugCWxXH6
- การเดินทาง : จากตัวเมืองอุบลราชธานี ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2050 ไปยังอำเภอโพธิ์ไทร ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปยังหาดสลึง บ้านสองคอน เพื่อใช้บริการเรือล่องชมแม่น้ำโขง ซึ่งเส้นทางล่องเรือจะผ่าน “ปากบ้อง” จุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขง ผ่านหาดหงส์ และไปสิ้นสุดที่สามพันโบก หรือหากต้องการชมสามพันโบกเพียงอย่างเดียว ก็สามารถขับรถตรงไปที่นั่นได้เลย